7 ข้อเตือนใจก่อนสร้างบ้านใหม่ ไม่ให้งบบานปลาย

Akharapon T. Akharapon T.
homify Modern houses
Loading admin actions …

ในการจะเริ่มต้นก่อสร้างบ้านใหม่ของเรานั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่เจ้าบ้านมักจะกังวลเรื่องของงบประมาณที่อาจมีการบานปลาย ทั้งจากเหตุสุดวิสัยที่ไม่คาดคิดระหว่างการดำเนินการ หรือมาจากความบกพร่องขาดการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน คงไม่มีใครอยากจะจ่ายเยอะเพื่อมาแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความไม่รอบคอบตั้งแต่แรกหรอกจริงไหม? นี่จึงเป็นเหตุผลที่ไอเดียบุคนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าบ้านมือใหม่ทุกคนที่กำลังจะเริ่มโปรเจคก่อสร้างบ้านของคุณ 

โดยเราได้สรุปใจความเป็น 7 ประเด็นควรรู้ที่คุณเจ้าบ้านพึงทราบในการตรวจเชคและเพิ่มความรอบคอบในการดูแลงานก่อสร้างบ้านของคุณเอง ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายก่อนเข้าอยู่อาศัย ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของตัวคุณเองในการป้องกันการสูญเสียงบประมาณไปอย่างไม่รอบคอบ ว่าแล้วก็ไปดูกันเลยว่าเราต้องรู้อะไรบ้าง และอย่าลืมจำกันให้ขึ้นใจเลยเชียว!

1. ตรวจเชคการเลือกใช้วัสดุทุกอย่างทุกชนิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน

แน่นอนเลยว่าการเลือกใช้วัสดุกับการก่อสร้างบ้านนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะวัสดุแต่ละประเภทก็มีความหลากหลายทั้งเรื่องของคุณภาพและราคา บางชนิดอาจมีราคาสูงเนื่องจากต้นทุนการผลิตหรือรูปแบบการดีไซน์ คุณจึงควรแน่ใจในรายละเอียดการกำหนดวัสดุที่จะใช้ ว่ามีความเหมาะสมคุ้มค่าหรือไม่ หากเป็นไปได้ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่ต้องนำเข้า และเลือกใช้วัสดุที่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่นของคุณเอง ซึ่งนอกจากจะง่ายต่อการติดตั้งโดยช่างท้องถิ่นแล้ว ยังช่วยลดเรื่องของค่าขนส่งค่าเดินทางอีกด้วย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานออกแบบที่มีการใช้หินหรือไม้เป็นวัสดุหลัก ควรปรึกษาช่างผู้รับเหมาหรือสถาปนิกก่อนทำการก่อสร้าง โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่จะช่วยให้คุณประหยัดงบกับค่าวัสดุให้มากที่สุดนั่นเอง

2. สภาพพื้นที่ต้องพร้อมต่อการก่อสร้าง

เป็นปัญหาที่พบได้ในหลายๆโครงการที่สภาพพื้นที่สำหรับการก่อสร้างนั้นไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงาน หรือไม่เหมาะสมกับแบบบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพพื้นที่ที่มีความสูงต่ำของระดับพื้นไม่แน่นอน อาจเป็นผลให้การทำงานล่าช้าและนำมาซึ่งความเสียเวลาและเสียเงินไปกับการแก้ไขปรับปรุงแบบ ดังนั้นก่อนจะเริ่มสร้างบ้าน คุณต้องเข้าใจถึงสภาพที่ดินของคุณว่ามีลักษณะอย่างไร ทั้งขนาดพื้นที่ ความสูงต่ำของระดับ สภาพคุณสมบัติของดิน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้การออกแบบบ้านนั้นมีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่มากที่สุด

3. แบบก่อสร้างบ้านจากนักออกแบบหรือสถาปนิก

ในประเด็นของการเลือกแบบบ้านนั้น นอกเหนือจากเรื่องของการใช้สอยเพื่ออยู่อาศัยและความสวยงามแล้ว งบประมาณการก่อสร้างก็สำคัญ การปรึกษาสถาปนิกเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดที่จะช่วยให้เราสามารถควบคุมไม่ให้เกิดการบานปลายได้ เพราะบ้านแต่ละแบบแต่ละหลังนั้นก็มีขั้นตอนการก่อสร้างหรือเทคนิควิธีที่ใช้ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะแบบบ้านที่มีดีไซน์ล้ำๆก็ต้องการเทคนิคการก่อสร้างแบบพิเศษ ดังนั้น หากเป็นไปได้ก็ควรเลือกแบบบ้านที่ใช้เทคนิควิธีทางโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อน และสามารถก่อสร้างได้ง่ายโดยใช้แรงงานช่างในท้องถิ่น จะเป็นผลให้คุณไม่ต้องกังวลเรื่องของค่าแรงและค่าอุปกรณ์วัสดุ

และที่สำคัญ ก่อนที่จะตกลงเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้างนั้น คุณต้องแน่ใจแล้วว่าแบบบ้านที่คุณตกลงใจจะสร้างนั้นถูกต้องและจรงกับความต้องการของคุณจริงๆ เพราะหากก่อสร้างไปแล้ว การที่จะปรับแก้แบบในภายหลังอาจส่งผลต่องบประมาณที่จะเพิ่มตามมาด้วย

4. บ้านและวัตถุดิบชิ้่นส่วนสำเร็จรูป อีกทางเลือกของความคุ้มค่า

เป็นโอกาสดีหากคุณลองศึกษาแบบบ้านสำเร็จรูป ซึ่งมีกระบวนการก่อสร้างที่รวดเร็วและมีคุณภาพด้วยวัสดุที่ผลิตเสร็จพร้อมติดตั้งจากโรงงาน ยิ่งสมัยนี้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยยิ่งทำให้การสร้างบ้านสมัยใหม่นิยมแบบบ้านสำเร็จรูปที่มีคุณภาพดีเทียบเคียงการสร้างบ้านแบบทั่วๆไป ทั้งนี้ในขั้นตอนการติดตั้งบ้านสำเร็จรูปนั้นมีข้อดีตรงที่เมื่อสภาพอากาศไม่เป็นใจ การก่อสร้างบ้านยังคงสามารถก่อสร้างจนเสร็จสิ้นได้ แตกต่างจากการก่อสร้างบ้านโดยทั่วไปที่มักประสบปัญหาในยามอากาศไม่เอื้ออำนวย

5. การติดตั้งงานระบบโครงสร้าง ท่อน้ำ ระบบสุขาภิบาล และระบบไฟฟ้า

ในการเลือกใช้ระบบโครงสร้างให้เหมาะสมกับบ้านของคุณนั้นมีปัจจัยเลือกที่หลากหลาย นอกเหนือจากความเหมาะสมของโครงสร้างกับแบบบ้านแล้ว ปัจจัยของงบประมาณ ระยะเวลาในการก่อสร้างก็มีส่วนช่วยตัดสินใจได้ อย่างเช่นการเลือกใช้โครงสร้างเหล็กก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยประหยัดเวลาและงบประมาณได้ค่อนข้างถูกกว่าแบบบ้านที่ก่อด้วยอิฐและปูน ทั้งยังได้ตัวบ้านที่แข็งแรงทนทานเช่นเดียวกัน

นอกจากระบบโครงสร้างแล้ว  ในงานระบบเดินท่อ ระบบไฟฟ้า ก็จำเป็นต้องมีการตรวจเช็คเรื่องการเลือกใช้วัสดุที่จะติดตั้งอย่างเหมาะสม ทั้งตัวของท่อและสายไฟต่างๆที่มีวัสดุและคุณสมบัติที่แตกต่างหลากหลาย และราคาเองก็เช่นกัน

6. สำรวจตรวจเชคบ้านในขั้นการเก็บรายละเอียดครั้งสุดท้าย

ในระหว่างขั้นตอนการเก็บรายละเอียดครั้งสุดท้ายของงานก่อสร้างนั้น เจ้าบ้านเองสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจเชคความเรียบร้อยต่างๆของบ้าน โดยสิ่งที่พอจะทำได้คือเรื่องของวัสดุพื้นผิวที่จะทำการกรุ ฉาบ ปิดทับส่วนโครงสร้าง ทั้งวัสดุปูพื้น วัสดุผนัง และวัสดุปกคลุมหลังคา ซึ่งนอกจากสถาปนิกและผู้รับเหมาจะเป็นผู้กำหนดแบบ ยี่ห้อของวัสดุแต่ละอย่าง เจ้าบ้านเองก็ต้องเข้าใจและรับทราบรายละเอียดเหล่านั้นด้วย 

โดยวัสดุที่จะช่วยให้คุณประหยัดงบได้นั้นก็มีหลากหลายในท้องตลาด หากเจ้าบ้านชื่นชอบสไตล์ตกแต่งบ้านแบบลอฟต์อินดัสเตรียลซึ่งมีความดิบเท่ ก็อาจใช้ผนังอิฐก่อโชว์แนว หรือผนังปูนเปลือยโชว์ผิววัสดุ ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ หรืออาจจะลองมองหาเศษไม้ที่เหลือมาดัดแปลงใช้สอยเป็นส่วนของพื้น ก็ไม่เสียหายแต่อย่างใด

7. เฟอร์นิเจอร์และสุขภัณฑ์คืออีกประเด็นที่ต้องใส่ใจ

เป็นที่ทราบกันดีว่าค่าอุปกรณ์ที่มาทีหลังขั้นตอนก่อสร้าง ทั้งค่าเฟอร์นิเจอร์ สุขภัณฑ์ห้องน้ำ ข้าวของเครื่องใช้นั้นล้วนแล้วเป็นค่าใช้จ่ายที่เจ้าบ้านจำเป็นต้องควบคุม แน่นอนว่าเราทุกคนต่างต้องการสินค้าที่มีคุณภาพดีที่สุดเพื่อการใช้สอยที่ยอดเยี่ยม แต่ต้องระวังและศึกษาให้ถี่ถ้วนก่อนทำการตัดสินใจซื้อ! และอย่าลืมว่าคุณภาพและราคาที่คุ้มค่าย่อมมาก่อนความสวยงามและรูปลักษณ์ภายนอกเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ ซึ่งในท้องตลาดมีหลากหลายรุ่นหลากหลายราคาให้เลือกสรร ดังนั้นหากเป้าหมายของคุณคือการประหยัดงบประมาณเพื่อสิ่งคุ้มค่าแล้วก็ย่อมต้องคำนึงถึงคุณภาพเป็นสำคัญ

Need help with your home project?
Get in touch!

Highlights from our magazine